การท่องเที่ยว
สรุปผลการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่เที่ยว”
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำ “โครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (Public Opinion: Poll) ที่มีต่อการเดินทางท่องเที่ยว” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกระแสนิยมต่างๆ อันจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งข้อมูลที่ได้รับสามารถนำมาประมวลผลกับสถานการณ์ด้านอื่นๆ รวมถึงนำไปปรับใช้กับการดำเนินด้านการตลาดของ ททท. ในอนาคต
สำหรับการสำรวจครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 หัวข้อการสำรวจ คือ “ปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่เที่ยว” โดยสำรวจจากประชาชนทั่วไป จำนวน 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4 – 8 กุมภาพันธ์ 2556
สรุปสาระสำคัญจากการสำรวจ
- ทัศนะของคนไทยต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย พบว่ากว่าร้อยละ 40 ของคนไทยเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวมากถึงมากที่สุด และเมื่อให้โอกาสเลือกเดินทางท่องเที่ยว คนไทยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80.4 เกี่ยวกับความน่าสนใจของประเทศไทยในการเลือกเดินเลือกเดือนทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่ ร้อยละ 19.6 เลือกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
- สำหรับความคุ้มค่าระหว่างการเลือกเดินทางระหว่างในประเทศ และต่างประเทศ คนไทยส่วนใหญ่ ร้องละ 49.1 มองว่ามีความคุ้มค่าพอๆ กัน ในขณะที่ร้อยละ 14.2 มองว่า เมืองไทยคุ้มค่าน้อยกว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และร้อยละ 36.6 มองว่าไทยคุ้มค่ามากกว่า นอกจากนี้ ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อ 1 ครั้งนั้น ร้อยละ 51.8 เห็นว่าเมืองไทยใช้จ่ายน้อยกว่า ร้อยละ 25.5 เห็นว่า ค่าใช้จ่ายพอๆ กัน และร้อยละ 22.7 เห็นว่าเมืองไทยใช้จ่ายมากกว่า
- เมื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบความรู้สึกระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.6 รู้สึกไม่แตกต่างกัน ขณะที่อีก ร้อยละ 34.0 รู้สึกดีกว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากมีโอกาสได้เห็นสิ่งใหม่และรับรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งหากมีโอกาสที่เหมาะสม คนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.6 จะเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ
- เมื่อให้เลือกการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าจะเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวภูเก็ตมากกว่าต่างประเทศถึงร้อยละ 89.6 ขณะที่ประเทศที่คนไทยเลือกจะเดินทางไปมากที่สุด คือ จีน รองลงมา คือ เวียดนาม และสิงคโปร์
- คนไทยเกือบร้อยละ 10 มีประสบการณ์ในการเดินทางไปยังประเทศเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ และเมื่อให้เปรียบเทียบสถานที่ท่องเที่ยวของไทยกับต่างประเทศ พบว่า ร้อยละ 3.6 ไม่แตกต่างกัน ในขณะที่ร้อยละ 32.7 และร้อยละ 12.7 มองว่ามีความแตกต่างกันมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.6 มองว่าประเทศไทยแย่กว่า ขณะที่ ร้อยละ 14.5 มองว่าประเทศไทยดีกว่า
- จากประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวเมื่อให้เปรียบเทียบปัจจัยด้านต่างๆ ของประเทศไทย กับต่างประเทศ พบว่า สิ่งที่ประเทศไทยแย่กว่าต่างประเทศมากที่สุด คือ สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนสิ่งที่ประเทศดีกว่าเป็นเรื่องของความคุ้มค่าในการท่องเที่ยว
- คนไทยส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 เคยเดินทางไปท่องเที่ยวนอกจังหวัดที่อยู่อาศัย และสำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์เดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด ทะเล น้ำตก และภูเขา ส่วนแหล่งธรรมชาติอย่างน้ำพุร้อน คนไทยยังมีประสบการณ์เดินทางไปท่องเที่ยวน้อยที่สุด
- เมื่อสอบถามถึงความต้องการกลับไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวเดิม พบว่า ร้อยละ 89.5 คิดว่าจะกลับไปเที่ยวอีก ด้วยเหตุผลของการเดินทางที่สะดวกและสถานที่ที่สวยงาน ในขณะที่ร้อยละ 10.5 คิดว่าไม่กลับไปเที่ยวอีกแน่นอน เนื่องจากไม่ชอบคนเยอะ สถานที่รองรับไม่เพียงพอ สถานที่เสื่อมโทรม และผู้ให้บริการไม่ยินดีต้อนรับคนไทย
- จังหวัดที่คนไทยไม่อยากไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ นราธิวาส ยะลา เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย และกรุงเทพฯ เป็นอีกจังหวัดที่คนไม่อยากไป เนื่องจากปัญหารถติด วุ่นวาย และคนเยอะ
- จังหวัดที่ยังไม่เคยไปแล้วอยากไปมากที่สุด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์
- จังหวัดที่ไปแล้วอยากไปอีก คือ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และชลบุรี
- จังหวัดที่ท่านไปแล้ว ไม่อยากไปอีก คือ ชลบุรี กรุงเทพฯ และสระแก้ว
- สิ่งที่ปรารถนาจากการท่องเที่ยวในประเทศ คือ อากาศบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
- ในปี 2556 ซึ่งจะมีวันช่วงหยุดยาวหลายช่วง มีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนไทยอย่างไปเที่ยวมากขึ้น ร้อยละ 14.4 โดยร้อยละ 35.2 มีแผนการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว โดยจะเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในพื้นที่ก่อนร้อยละ 43.2 และเลือกเดินทางในจังหวัดใกล้เคียง ร้อยละ 42.3 ส่วนร้อยละ 13.6 จะเลือกไปในจังหวัดที่ไกล สำหรับประเภทแหล่งท่องเที่ยวที่อยากไปมากที่สุด คือ ทะเล รองมา คือ ไปทำบุญที่วัด
- การเข้าสืบค้นข้อมูลการท่องเที่ยวจาก Website ของ ททท. ร้อยละ 8.0 เข้าดูเป็นประจำ ในขณะที่ร้อยละ 45.1 เข้าดูบ้างบางครั้ง และร้อยละ 46.9 ไม่รู้จักเว็บไซต์
- หากรัฐสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยววันธรรมดา คนไทยมองว่าจะส่งผลในระดับมากร้อยละ 5.9 และส่งผลในระดับปานกลาง ร้อยละ 59.4
- สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวคนไทยนิยมเลือกเดินทางท่องเที่ยวเอง ถึงร้อยละ 63.7 และเลือกเดินทางโดยซื้อทัวร์ ร้อยละ 5.3
- รูปแบบการท่องเที่ยวที่นิยม ส่วนใหญ่คือ การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ การท่องเที่ยว ตามแหล่งลึกลับทางจิตวิญญาณหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และการท่องเที่ยวตามแหล่งชนบท ดูวิถีชีวิต
- จากนโยบาย 300 บาท ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในด้านระยะเวลาในการท่องเที่ยวถึง ร้อยละ 72.3 รองลงมาส่งผลต่อความถี่ด้านการท่องเที่ยว ร้อยละ 66 และส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายในการท่องเที่ยว ร้อยละ 49.4
- นโยบายรถคันแรกมีผลต่อการท่องเที่ยว ร้อยละ 13.9 และร้อยละ 1.5 มองว่า ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการเดินทางมากขึ้น และร้อยละ 80 มองว่าไม่เปลี่ยนแปลงเลย
- สิ่งที่คนไทยคิดว่าบริษัททัวร์ควรปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการให้อยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ควรปรับระดับราคาให้เหมาะสม รองลงมา คือ ควรมีบริการที่ดีเพื่อความประทับใจ และควรมีโปรโมชันดีๆ นำเสนอที่มีความหลากหลาย
- สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการในด้านการท่องเที่ยว คือ ควรมีการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวให้มากกว่านี้ รองลงมา คือ ควรมีการรักษาความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และควรรักษาความสะอาดในสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น
- สิ่งที่เป็นห่วงเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวของไทย มองว่าประเด็นด้านความปลอดภัยของผู้ท่องเที่ยวมีความน่ากังวลมากที่สุด รองลงมา คือ การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว และด้านสถานที่ ควรมีการอนุรักษ์ให้อยู่ในรูปแบบเดิม
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
|
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
|
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
การโรงแรมและการท่องเที่ยว
|
|
|